วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บางคล้า (4) อาหารเจ้าอร่อย ขนมขึ้นชื่อ และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ตุลา 2556


3 ชั่วโมงครึ่ง ที่บางคล้า

ในเวลาจำกัดแค่สั้นๆ 3 ชั่วโมงครึ่งที่มีโอกาสไปบางคล้าเป็นครั้งแรก ในวันที่ 31 มกราคม 2557

ได้รับความกรุณาจากเจ้าถิ่นจัดเต็มให้
ได้สัมผัสทั้งบรรยากาศที่ร่มรื่น ชมชีวิตค้างคาว  ชมสถานโบราณและเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยควรรู้

ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชน  เศรษฐกิจของบางคล้า
และช่วงเวลาที่ชาวบางคล้าร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤตภัยน้ำท่วมที่หนักหนาสาหัสในเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา

รวมถึงได้ชิมอาหารและขนมอร่อย ครบเครื่องตามคำขวัญของเมืองบางคล้าที่มีว่า 
บางปะกงคู่ชีวี   พระสถูปเจดีย์คู่ถิ่น  ศาลพระเจ้าตากสินคู่บ้าน
อาหารคาวหวานคู่เมือง   ลือเลื่องค้างคาววัดโพธิ์  




 ณ ที่ทำการอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา 

ท่านนายอำเภอบอกว่าให้จอดรถตรงนี้ก่อน (ชั่วคราว)  
อ้าว หันไปเห็นป้าย -  ที่จอดรถคนพิการ !

ฮาฮา เราได้รับสิทธิพิเศษจอดรถตรงที่จอดรถคนพิการ

ภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าอำเภอนี้ให้ความสำคัญและใส่ใจบริการคนพิการ
มีการจัดที่จอดรถไว้สำหรับคนพิการเป็นพิเศษ


 ที่ทำการอำเภอหันหน้าเข้าหาแม่น้ำบางปะกง ชั้นบนจึงมองเห็นสายน้ำบางปะกงที่ไหลเื่อื่อยอย่างสงบ 
มองไปด้านหน้าของภาพถ่ายนี้  หลังคาสีฟ้าคือ ตลาดน้ำบางคล้า (เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

หน้าอำเภอมีธงชาติอาเซียนด้วย


  เป็นอำเภอที่น่ารัก 



 ที่บันไดชั้นสอง


แผนที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากเมืองฉะเชิงเทรา 25 ก.ม.


 มาดูแผนที่นี้  ถึงจะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน มาจากทางไหน รอบๆ มีอะไรบ้าง
แม่น้ำบางปะกงช่างคดเคี้ยวหลายโค้งมาก

 

ขาไป รถติดช่วงทำทางจากเส้นบางนาตราด - ฉะเชิงเทรา
กว่าจะถึงบางคล้าก็เที่ยง 15 แล้ว
ท่านนายอำเภอพรเลิศ โชคชัย กับท่านปลัดอำเภอบังเอิญ (คุณเป็ด)
บอกจะพาเราไปทานที่ร้านอร่อยของบางคล้า
(ชอบเลยค่ะ ร้านอร่อย ไปไหนก็ชอบหาของอร่อยอยู่แล้ว แต่เที่ยวนี้ไม่ได้หาข้อมูลไว้ก่อน) 


นายอำเภอเล่าว่า ร้านเถ้าแก่ชื้อ (ซิ้มฮวดเฮง) ตั้งมานานแล้วตั้งแต่รุ่นปู่คือตัวเถ้าแก่ชื้อเอง 
ปัจจุบันรับช่วงบริหารร้านโดยหลานของเถ้าแก่ชื้อ

ตอนไปถึงที่ร้าน ทางเจ้าของร้านพอทราบว่านายเภอมาก็ออกมาต้อนรับด้วยตนเอง

นายอำเภอให้เกียรติเลี้ยงข้าวและสั่งอาหารจานเด็ดของร้านนี้ให้ชิม  
กุ้งแม่น้ำทั้งสดทั้งตัวใหญ่มากๆ ล้นออกมาจากหม้อเลย



เอนทรี่ที่แล้ว บล็อกเกอร์  kratenUan เห็นภาพแล้วถามว่า
กุ้งดูตัวใหญ่เพราะจากมุมกล้องหรือเปล่า
ไม่ใช่ดูใหญ่เพราะมุมกล้องนะคะ  ตัวใหญ่จริงๆ ค่ะ
ตอนเขายกมา ร้อง "โอ้โห ทำไมตัวใหญ่อย่างนี้ ขอถ่ายรูปหน่อย" 
รสชาติเครื่องต้นยำหม้อนี้อร่อยถูกปากมากๆ  
   

  
แฮ่กึ๊นกุ้งนาง  นี่ก็จานเด็ดขึ้นชื่อของที่ร้านนี้  ทอดได้กรอบกำลังดี รสชาติอร่อยไม่รู้จะบรรยายอย่างไร 


จานนี้เรียกว่า หมูแดง 
ท่านปลัดเป็ดน่ารัก ให้เกียรติตักอาหารโน่นนี่ให้ชิมตลอด  ขอบคุณจากใจค่ะ
  
อาหารแนะนำของร้าน จากป้ายข้างล่างนี้นะคะ 

 

 ที่ร้านมีป้ายสมาคมชาวจีนฮกเกี้ยนแขวนอยู่ ดิฉันเดาว่า เถ้าแก่ชื้อ น่าจะมีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน 



 ทานข้าวเสร็จ  ท่านพาเดินข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม  
เป็นร้านขายขนมเปี๊ยะชื่อดัง ของดีเมืองบางคล้าอีกอย่างหนึ่ง 

ตั้งเซ่งจั้ว

 

 ป้ายภายในร้านตั้งเซ่งจั้ว บางคล้า  บนป้ายชื่อร้านมีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงช่วงทรงครองราชย์ครบ 60 ปี
 ในร้าน มีภาพจำลองป้ายร้านเก่าเดิม 

 

กล่องขนมออกแบบสวยงาม  
ท่านนายอำเภอและท่านปลัดซื้อฝากเราหอบกลับมาหลายกล่องมาก
เกรงใจจริงๆ  แต่รับไว้หมดเลย 



    บัวหิมะ สีเขียวมรกตนี้ อร่อยมากค่ะ  แป้งนุ่มมาก  
มีบางลูกปั้มเป็นอักษรจีนตัว ฝู ที่แปลว่าความสมบูรณ์พูนสุข วาสนาดี 

 ขนมเปี๊ยะไส้ฟัก กับ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้โหงวยิ้งก็อร่อยมากค่ะ



 ขอบคุณท่านปลัดบังเิอิญ (คุณเป็ด) ที่พามา เลือกขนมอร่อยฝากเราเอากลับบ้าน  
 
  
          วิถีชีวิตชุมชนและเศรษฐกิจของบางคล้า
          ท่านนายอำเภอพรเลิศเล่าว่า บางคล้าเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี  ของดีที่ขึ้นชื่อนอกจากจะเป็นกุ้งนาง กุ้งน้ำจืดที่ได้จากการประมงน้ำจืดแล้ว  ยังขึ้นชื่อเรื่องมะม่วงอร่อยเนื่องจากดินดีอีกด้วย  
          ที่นี่ยังเป็นแหล่งใหญ่ในการป้อนเนื้อหมูให้กับตลาดกรุงเทพฯ ฯลฯ  
          ประชากรรวมของบางคล้าปัจจุบันมี 45,000 กว่าคนตามทะเบียน

วิบากกรรมน้ำท่วมใหญ่บางคล้า  ตุลาคม 2556        
เดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา (คือเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว)  ชาวบางคล้าต้องร่วมกันฝ่าวิบากกรรมน้ำท่วมรุนแรงหนักสุดในรอบหลายสิบปี
น้ำในแม่น้ำบางปะกงที่เราเห็นสงบนิ่งไหลเอื่อยๆ ในยามปกตินั้น  ได้เอ่อล้นสองฝั่งท่วมบ้านเรือนเทือกสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหายอย่างหนัก  สูญเสียชีวิตไปหลายสิบคน  ถนนพัง พืชผลสัตว์เลี้ยงเสียหาย สวนมะม่วงที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของบางคล้าเสียหาย น้ำท่วมสูงกว่า 1.20 เมตร  หลายพื้นที่ถูกตัดขาด 
ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส   หน่วยงานองค์กรทุกหน่วยของรัฐและเอกชนของบางคล้าต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน  โดยเฉพาะนายอำเภอและทีมงานที่มีหน้าที่ดูแลชาวบ้านโดยตรง 
นายอำเภอเล่าว่า วิกฤตช่วงนั้น หนักจริงๆ  มีปัญาหาหนักๆ เข้ามาทุกชั่วโมง  ไหนต้องแจกจ่ายของช่วยเหลือให้ทั่ว ไหนต้องคอยคุยกับกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการพังทำนบกั้นน้ำ  ไหนต้องจัดการเรื่องดูแลความปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่และคณะต่างๆ ที่ต้องการลงพื้นที่ช่วงน้ำท่วม ฯลฯ 
จากการที่นายอำเภอได้ชี้ให้ชาวบางคล้าเห็นว่า การพังทำนบกั้นน้ำให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่้น้ำท่วมหนัก จะมีผลทำให้น้ำในพื้นที่ที่ท่วมอยู่ลดระดับลงประมาณ 4 ซม. แต่น้ำจะไหลท่วมโรงพยาบาลบางคล้าภายในเวลา 2 ชั่วโมง   ก็จะไม่สามารถช่วยชีวิตคนได้ในกรณีฉุกเฉินอีก  (พวกเราจะเอาแบบนี้หรือ ?)
ชาวบางคล้าก็ไม่ได้พังทำนบ  ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันจนผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมด้วยกันในที่สุด

(ขอบคุณภาพล่างนี้จากเฟชบุ๊ก  https://www.facebook.com/8rewflood ค่ะ)

  
ภาพล่าง ขอแชร์มาจาก ไทยรัฐออนไลน์ 10 ตุลาคม 2556  http://www.thairath.co.th/content/edu/375357

 

ภาพมุมสูง น้ำท่วม บริเวณวัดปากน้ำ อุโบสถสีทอง  ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 10 ตุลาคม 2556
http://program.springnewstv.tv/18969



 เปรียบเทียบกับภาพล่าง ภาพวัดปากน้ำ ที่เหล่าซือถ่ายไว้ในวันที่ 31 มกราคม 2557 


ภาพล่างนี้ เป็นภาพน้ำท่วมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556   บริเวณตรงข้ามวัดปากน้ำ ที่มีอุโบสถสีทอง  
ขอแชร์มาจาก http://www.wefinn.com/content.php?content_id=001226



 เปรียบเทียบกับภาพที่เหล่าซือถ่ายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557  



  แต่ตอนที่เขียนอยู่นี้  บางคล้าแล้งมาก
การมาบางคล้าครั้งนี้  เหมือนได้มาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ สังคม ท่องเที่ยว  มีแถมอาหารอร่อยด้วย
................................................................


.................................................
ข้อมูลเพิ่มเิติมเกี่ยวกับบางคล้าต่อไปนี้
เป็นส่วนที่เหล่าซือขอแชร์มาจากเว็บไซต์ คุ้มครองบางคล้า 
http://savebangkhla.wordpress.com/100years/
        “บางคล้า” เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนาไร่ และสวนผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น สับปะรด มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่ว แผ่นดินผืนนี้เป็นที่ตั้งรกรากของบรรพบุรุษชาวบางคล้า ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนสืบทอดกันมาช้านาน วิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้มีความเป็นอยู่อย่างสงบ เรียบง่าย ต่างทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทุกคนมีความรักใคร่ปรองดองให้ความนับถือดุจพี่น้อง ดั่งเครือญาติ 
        แผ่นดิน แผ่นน้ำที่เป็นบางคล้าขณะนี้มีความเป็นมายาวนนานถึง ๑๐๐ ปี ทุกที่มีประวัติทุกกลุ่มชนมีวิถีชีวิตที่จะดำรงด้วยภูมิปัญญาของตนและมีวิธีแสวงหาทรัพย์โดยการประกอบอาชีพตามสิ่งแวดล้อมอำนวย ผลิตผลจากหลายอาชีพจัดเป็นของดีบางคล้าที่มีผู้มาเยือนนิยมซื้อติดมือกลับบ้าน
        จาก การศึกษารวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และจากากรสอบถาม สัมภาษณ์ท่านผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่แล้วนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับพงศาวดาร ตำนานพื้นบ้านในท้องถิ่นหรือหลักฐานอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าคนบางคล้านั้น มีความภาคภูมิใจในแผ่นดินและบรระบุรุษของตนเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมรับใช้แผ่นดิน เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระวีรกรรมต่อต้านศัตรูที่มาตั้งค่ายยึดมั่นอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังตราตรึงในความทรงจำของคนบางคล้าอยู่จนทุกวันนี้
        นอกจากนี้ ยังมีสินค้าของฝาก เช่น ขนมเปี๊ยะ และผลไม้ประจำถิ่นที่ได้รับการยอมรับ  ในเรื่องของรสชาติ ความอร่อย หวานมัน คือมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ มะพร้าวน้ำหอม น้ำตาลสด  เป็นต้น
.....................................
ภาพล่างนี้ เหล่าซือไม่ได้ถ่ายเอง  ขอแชร์มาจากเว็บไซต์เทศบาลตำบลบางคล้า 
ประตูสู่บางคล้า อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ปากทางเข้าเมือง
   
แผนที่บางคล้า
ร้านอาหาร ร้านขนม  สถูปเจดีย์พระเจ้าตาก วัดปากน้ำ วัดโพธิ์-บางคล้า 

ขอบคุณแผนที่เดินทาง จากเว็บไซต์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

Flag Counter


Flag Counter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น