วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

เชียงราย (ตอน 6) สวนแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง / สถิติการค้ากับจีนผ่านเส้นทาง R3A ที่ต่างกัน 345 เท่าตัว



(ต่อจากเชียงราย ตอน 5)
นอกจากเรื่องเที่ยวแล้ว
ทราบหรือไม่
เรามีการนำเข้า - ส่งออกผลไม้ผ่านชายแดนภาคเหนือทางเชียงรายไปขายจีนมากน้อยเท่าไหร่ ?
ผลไม้อะไรบ้างที่จีนนำเข้าจากเรามากที่สุด ?

.............

พระตำหนักดอยตุง และ สวนแม่ฟ้าหลวง
เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเชียงราย 
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบไม้ดอกเมืองหนาว

คำขวัญประจำจังหวัดเชียงราย

เหนือสุดในสยาม       ชายแดนสามแผ่นดิน 
ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา   ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง
.......................................

อากาศเช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2015  สดชื่น มีเมฆและฝนตกพรำๆ
อากาศเย็นถึงหนาว ประมาณ 15 - 16 องศา

จำได้ว่าตอนมาครั้งแรกก็ฝนตกพรำๆ แบบนี้เหมือนกัน
หรือที่ดอยตุงจะมีสภาพอากาศแบบนี้เสมอ ?



พระตำหนักดอยตุง และสวนแม่ฟ้าหลวง
ทั้งสองส่วนนี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน  จอดรถที่เดียวกัน
เพียงแต่แยกประตูทางเข้าชม  และสามารถแยกซื้อบัตรเข้าชมได้

การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงราย  ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน)
มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ทางที่จะไปอำเภอแม่สาย

ถึงหลักกิโลเมตรที่ 871 มีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้าย ไป ดอยตุง
มีรถสองแถวบริการขึ้นดอยอยู่หน้าปากทาง

ถ้าขับรถไปเอง ก็ขับจากปากทางขึ้นไป  15 กม.  สภาพทางขึ้นดี  ไม่ชัน

ถ้าเป็นช่วงเทศกาล แนะนำให้ไปแต่เช้า ถ้าไปสายจะหาที่จอดรถยาก

ซึ่งสวนแม่ฟ้าหลวงจะเปิดตั้งแต่ 7.00 น. - 17.00 น.

มีจุดชมวิวทิวเขาระหว่างทางขึ้นดอยตุง  ซึ่งจุดนั้นสูงจากระดับน้ำทะเล 847 เมตร


ภาพจากจุดชมวิวระหว่างทาง



มีต้นมะเขือมิกกี้เม้าส์ ตั้งขายที่ร้านค้าบนพระตำหนักดอยตุง
มีร้านกาแฟ ดอยตุง ด้วย



         ค่าเข้าชม
         มีค่าบัตรแยกเฉพาะชมพระตำหนักหรือสวนดอกไม้ คนละ 90 บาท
         ผู้สูงอายุและนักเรียนนักศึกษาคนละ 45 บาท (ต้องแสดงบัตรประจำตัวตอนซื้อบัตรเข้าชม)
       
         และมีบัตรเข้าชมรวม  ราคา 190 บาทด้วย (รวมสถานที่เข้าชม 3 แห่ง)


นกเป็ดน้ำว่ายน้ำอยู่ในสระน้ำที่ขุดขึ้น

ชอบดูนกเป็ดน้ำเอาหัวมุดน้ำและโด่งก้นขึ้น น่ารักดี



เอาบรรยากาศรอบๆ สวนแม่ฟ้าหลวงมาฝาก

แบบจำลองบ้านชาวเขา  ที่มีผักข้าวโพดแขวนไว้ใต้ชายคา



อุปกรณ์ทำครัว เตา และ หม้อหุงข้าวแบบเช็ดน้ำที่ตั้งแสดงไว้ในบ้านจำลอง 

ยังเกิดทันได้หุงข้าววิธีนี้ตอนเป็นเด็ก
  
การหุงข้าว ดงข้าว แบบเตาถ่านนี้ 
จะต้องคอยพลิกหม้อข้าวให้ดงข้าวให้สุกทั่วหม้อ
ข้าวที่หุงออกมาจึงหอมอร่อยกว่าหม้อไฟฟ้าที่ใช้ในเมืองปัจจุบัน





ถัดจากบ้านชาวเขาจำลอง  ก็จะเป็นสวนดอกไม้สีสันสวยงาม
















เราเคยมาชมสวนดอกไม้ที่นี่แล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน

มาครั้งนี้ ขุนเขายังคงยืนตระหง่านอยู่ที่เดิมเหมือนเดิม
ดอกไม้ก็ยังคงสวยสดงดงามไม่ผิดไปจากความทรงจำ
แต่ 15 ปี ...
โลกและคนเปลี่ยนไปมากมาย
ผู้คนรอบข้าง  การงาน  วิถีชีวิต  สังคม ....

มาคราวที่แล้ว ลูกคนเล็กยังเรียนอยู่อนุบาล ......... พ่อแม่จูงลูก
มาคราวนี้ลูกเป็นตากล้องถ่ายรูปให้พ่อแม่
มาคราวหน้าคงเป็นลูกจูงพ่อแม่...

มาคราวที่แล้ว ในโลกนี้ยังไม่มี Wi-Fi   ไม่มี facebook
ไม่มีไลน์  ไม่มีไม้เซลฟี่........
เหลียวหลังย้อนกลับไป  รู้สึกการเปลี่ยนแปลงช่างมากมายใหญ่หลวงเสียจริงๆ

....................................

เราออกจากดอยตุงพร้อมกับอำลาเชียงรายไปแค่นี้ก่อน บ๊ายบาย
เชียงรายยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมายที่ครั้งนี้เราไม่มีโอกาสไปเยือน
ทั้งที่เคยไปและยังไม่เคยไป  ... สามเหลี่ยมทองคำ ภูชี้ฟ้า ผาตั้ง ดอยแม่สลอง ฯลฯ
คงจะได้กลับมาอีกครั้ง  และไม่ต้องนานถึง 15 ปี
ชอบอาหารที่นี่ เสียดายที่ครั้งนี้่ไม่มีโอกาสกินข้าวโพดข้าวเหนียวของเชียงราย
..............

เราเดินทางออกจากสวนแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน เชียงราย  เกือบเที่ยง
มุ่งหน้าสู่ดอยอ่างขาง  อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 107
ผ่านอำเภอฝาง ขึ้นดอยอ่างขางที่ฝาง หรือ ที่เรียกกันว่า ทางไชยปราการ

วันนั้น เราใช้เวลาเดินทางจากดอยตุง ถึงดอยอ่างขาง  4 ชั่วโมงครึ่ง รวมเวลาพักกินข้าวเที่ยงระหว่างทาง
ทางขึ้นดอยเส้นนี้ทั้งคดเคี้ยวทั้งชัน แล้วยังเจอฝนตกในช่วงที่กำลังขับถึงช่วงทางชันด้วย

บันทึกการเดินทางเอนทรี่ต่อไป จะใช้ชื่อเรื่องว่า ดอยอ่างขาง (ตอน 1 )


..........................................

เชียงราย  ตัวเมืองขยายใหญ่กว่าแต่ก่อน ถนนหนทางก็ดีขึ้นมาก
มีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่  มีห้างใหญ่ๆ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงถึงสภาพเศรษฐกิจของเมืองเชียงรายที่เปลี่ยนแปลงไป

เมืองเชียงรายในอดีต อาศัยเศรษฐกิจภาคเกษตรเป็นหลัก

ปัจจุบัน เชียงรายมีทั้งรายได้จากการค้าขายชายแดนกับเมียนมาร์ ลาว และจีน เนื่องจากได้เปรียบทางภูมิประเทศที่ติดกับชายแดนของประเทศทั้งสาม

และรายได้สำคัญอีกทางหนึ่ง คือ การท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่

นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนมากจะไปเที่ยวช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวภาคเหนือ
แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวตลอดทั้งปี

ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของที่นี่มีรายได้ตลอดปี  มีรายได้บำรุงสถานที่และทำให้เกิดการมีงานทำ

ทั้งมีนักธุรกิจเดินทางมาค้าขาย  ทำให้มีโรงแรม  ร้านอาหาร ร้านกาแฟเก๋ๆ เกิดขึ้นราวดอกเห็ด

ธุรกิจเหล่านี้สามารถอยู่ได้และขยายตัว โดยที่ไม่ต้องอาศัยเฉพาะช่วงเทศกาล

สถิติการค้าระหว่างชายแดนภาคเหนือไทยกับจีน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 (2015)
มูลค่าสินค้าจีน (ส่วนใหญ่เป็นผลไม้จีน แอปเปิล ส้ม กระเทียม พริก ) ผ่านด่านบ่อหาน เส้นทาง R3A ที่ผ่านประเทศลาว มาเชียงของ (เชียงราย)  และผ่านท่าเรือกวานเหล่ย (关累)นั้น
รวมมูลค่า 275.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนมูลค่าสินค้าไทย (ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ไทย) ที่ส่งออกไปขายตลาดจีนโดยผ่านด่านศุลกากรบ่อหาน (ประเทศจีน) ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (เดือนมกราคม - สิงหาคม)
มีมูลค่ารวมกว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  
คิดเป็นเงินไทย คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์  กว่า 34,200 ล้านบาท )  

ผลไม้ไทยที่จีนนำเข้ามากที่สุด  คือ  กล้วยไข่ มังคุด และ  ลำไย

ด่านศุลกากรบ่อหานอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ 9 ชนิด  ได้แก่
1. กล้วยไข่     2. ทุเรียน      3. ลำไย     4. มังคุด    5. ส้มโอ
6. มะละกอ     7. มะขาม      8. มะม่วง   9. ลิ้นจี่

สถิติการค้าระหว่างไทยกับจีนน่าสนใจมาก
จีนส่งผลไม้มาขายไทยรวมมูลค่า             275.35  ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จีนนำเข้าผลไม้จากไทย รวมมูลค่ากว่า  9,500.00  ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แสดงว่าเราได้ดุลย์
เราส่งไปขายจีนมากกว่าจีนขายเรา สูงถึง 345 เท่าตัว

ดีดเครื่องคิดเลขคิดหลายรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองคิดไม่ผิด   345 เท่าตัว


ขอขอบคุณข้อมูลสถิติมูลค่านำเข้า-ส่งออกไทย-จีน จากบล็อกของ คุณ "อาคม"  http://www.oknation.net/blog/akom/2016/01/16/entry-3

แหล่งข้อมูล (ที่ท่านบล็อกเกอร์อาคมอ้างอิง)
www.thaibizchina.com
เว็บไซต์ข่าว http://yndaily.yunnan.cn/html/2015-11/11/content_1015334.htm?div=-1 วันที่ 11 พ.ย. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น