วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

เจาะลึกปักกิ่ง Tsinghua University 清华大学 มหาวิทยาลัยอันดับ 1 สายวิทย์ของจีน

การส่งตัวเองและลูกหลานไปเรียนต่อจีน กำลังเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจ 
แต่ผู้เขียนเห็นว่าการไปเรียนที่จีนไม่ใช่สูตรสำเร็จรูปที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาจีน
และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีนที่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติก็มีความแตกต่างด้านคุณภาพอยู่มาก 
บางแห่งเปิดเป็นเชิงพาณิชย์  เน้นรายได้  บางแห่งเน้นปริมาณ   
การจะเรียนภาษาจีนให้เป็น ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง  
แต่เอนทรี่นี้และเอนทรี่ต่อไปจะยังไม่พูดถึงประเด็นปัญหาการเรียนภาษาจีนในจีน
แต่จะเล่าถึงมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านต่างๆ บางแห่งของจีนก่อน
..................................................   
Tsinghua University 清华大学 มหาวิทยาลัยอันดับ 1  สายวิทย์และเทคโนโลยีของจีน
เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนจีนใฝ่ฝันที่จะสอบเข้ามาเรียนที่นี่มากที่สุด 
และได้กลายเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ชาวจีนต้องเข้ามาเยี่ยมชมเมื่อมาเยือนปักกิ่ง


Tsinghua 清华 ออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางว่า " ชิงฮว๋า "
แต่ภาษาไทยเราทับศัพท์เพี้ยนเป็น " ชิงหัว " ตามการออกเสียงคำว่า  华(華)เป็น ฮั้ว ในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว 
บางที่ก็ทับศัพท์เสียงเป็น " ชิงหวา "


ภายในมหาวิทยาลัย นอกจากจะมีอาคารที่ได้รับการออกแบบทันสมัยแล้ว  ยังคงอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างแบบเก่าๆ ตามสไตล์ของจีนดั้งเดิมไว้  รวมถึงมีมุมสงบที่มีทัศนียภาพสวยงาม ( ภาพบน คือมุมหนึ่งในมหาวิทยาลัยชิงฮว๋า ที่มีบรรยากาศสงบกลางเมืองปักกิ่ง )  

 

Tsinghua University 清华大学 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1911  คณะของเราได้เข้าไปเยี่ยมชมในวันที่ 7 เมษายน 2011 
จึงตรงกับช่วงที่มหาวิทยาลัยชิงฮว๋าฉลองครบรอบ 100 ปีพอดี  ( ในภาพ เป็นข้อความเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี )


Tsinghua University 清华大学 เป็นสถาบันหลักที่รัฐบาลจีนทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านต่างๆ และวิศวกร  เป็นมหาวิทยาลัยที่สอบเข้ายากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
 

Tsinghua University 清华大学 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ 1 มาติดต่อกันนานถึง 10 ปี  และเพิ่งจะเสียแชมป์ให้กับ Peking University 北京大學 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาวิชาทั่วไป เมื่อปี 2010 นี่เอง 


แต่อย่างไรก็ตาม Tsinghua University 清华大学 ก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ทางด้านสายวิทย์อยู่


 เป็นที่รู้จักของประเทศต่างๆ ในฐานะ MIT จีน  


เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่ข้างในมีทุกอย่าง  กว้างมาก  เราใช้เวลาเดิน 3 ชั่วโมงครึ่งก็ยังเดินชมไม่ครบ


อาคารใน Tsinghua University 清华大学 


ตัดกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเมื่อ 100 ปีก่อน


และมุมที่ไม่เหมือนอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เหมือนแหล่งท่องเที่ยวย่อมๆ


อาคารที่กำลังก่อสร้าง ( ที่เห็นต้นไม้ไม่มีใบ เพราะเดือนเมษา ปักกิ่งเพิ่งจะผ่านพ้นหน้าหนาวอันหฤโหด  ต้นไม้กำลังจะผลิใบใหม่)


ตัดกับตึกเก่าที่อนุรักษ์ไว้
Tsinghua University 清华大学 มีเกียรติประวัติด้านเคยเป็นสถานที่สำคัญในการรวมตัวกันของนักศึกษาที่รักชาติ
เป็นหัวหอกในการต่อต้านญี่ปุ่นและต่างชาติที่เข้าไปรุกรานและฆ่าชาวจีน


ที่นี่มีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติด้วย  แต่คนที่จะเข้ามาเรียนระดับ ป.ตรีและ ป.โท จะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด


Tsinghua University 清华大学 ได้สร้างบุคลากรสำคัญให้กับจีนมากมาย รวมถึงประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน


ถึงจะไม่สวยเท่าจิ้วจ้าวโกว  แต่นั่งที่นี่ก็สบายอารมณ์มาก (ถ้าไม่หิวข้าว คงนั่งแช่อยู่กับบรรยากาศที่นี่ไปนานๆ )


เวลาเรียนทุกคนก็จะเร่งรีบ  นักศึกษาขี่จักรยานไปตามตึกเรียนต่างๆ  เด็กที่นี่ถือว่าเป็นเด็กหัวกะทิจากทั่วประเทศจีน


ผู้เขียนภูมิใจที่ได้มีส่วนแนะนำให้นักเรียนไทยคนหนึ่งไปสมัครเรียนที่ Tsinghua University 清华大学 แห่งนี้
และได้ยื่นขอทุนรัฐบาลจีน 中国政府奖学金 เป็นผลสำเร็จ  ในปีการศึกษา 2011 -2012  


นักเรียนไทยคนนี้จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเคมี เกียรตินิยมจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย 
และจบปริญญาโทสาขาบริหารอุตสาหการจาก Tsinghua University 清华大学 2012 ด้วยทุนรัฐบาลจีน


เขาเล่าว่าคนที่ได้ทุนมาเรียนที่นี่  แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น  เขาอยากให้มีคนไทยไปเรียนที่ Tsinghua University มากๆ
ทุนการศึกษารัฐบาลจีน 中国政府奖学金 เป็นทุนที่ให้เปล่าไม่ต้องใช้ทุน  เป็นทุนที่ดีที่สุดในบรรดาทุนต่างๆ ของจีน
รวมค่าเรียน ค่าหอพัก และมีค่าใช้จ่ายให้อีก 1700 หยวนต่อเดือน สำหรับนักศึกษาปริญญาโท  


สำหรับมหาวิทยาลัยชิงฮว๋า แค่การสมัครเข้าเรียนโดยทุนพ่อแม่ก็ยากมากอยู่แล้ว   


เมื่อมีนักเรียนของเราไปเรียนอยู่ที่นั่น  เราจึงได้พานักเรียนของเราคณะหนึ่งไปทัศนศึกษาและเยี่ยมชมสถานที่จริง

สำหรับชาวจีนเอง บางปีจะมีนักเรียนสอบเข้ามาได้เพียงมณฑลละ 1 คนเท่านั้น  บางปีบางมณฑลก็ไม่มีคนสอบติดที่นี่เลย
ชาวจีนจึงนิยมพาลูกหลานให้มาเที่ยวชม Tsinghua University 清华大学
เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีความมุมานะในการเรียน โตขึ้นจะได้สอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีดี


ปัจจุบันเปิดสอนทั้งหมด 56 สาขาวิชา


สถิติปี 2012 มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษารวมกันกว่า 3 หมื่นคน 


เนื่องจากมีบริเวณกว้างใหญ่มาก  การเดินทางภายในมหาวิทยาลัยส่วนมากต้องอาศัยการขี่จักรยาน


บางคนสงสัยว่า  ทำไมสัญลักษณ์กำกับเสียงอ่าน (สัทอักษร) ทำไมไม่เขียนด้วย Qinghua ตามระบบ pinyin ?
Tsinghua ก่อตั้งขึ้นก่อนที่จะมีสัทอักษรระบบพินอิน จึงยังคงใช้สัญลักษณ์กำกับเสียงอ่านระบบเก่าก่อนระบบพินอิน




คนในเงาเป็นคนถ่ายภาพบนนี้


ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านและทักทายกันเสมอ



ตอนต่อไป จะเป็นข้อเขียนจากความรู้สึกของนักเรียนไทยที่ได้รับทุนไปเรียน ม.ชิงฮว๋ากลับมา พร้อมรูปเพิ่มเติมค่ะ 
Tsinghua University 清华大学 มีการเปิดสอนและให้ทุนนักเรียนต่างชาติในหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษด้วย
และจะมาเล่าในตอนต่อไป

เขียนโดย สุวรรณา สนเที่ยง 张碧云 

ข้อมูลเพิ่มเติม (12 กันยายน 2017)

มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (北京大学)และมหาวิทยาลัยชิงฮว๋า (清华大学)ของจีน ติดอันดับ TOP 30 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ปี 2018 ของ Times Higher Education
Paking U. ติดอันดับที่ 27 (จากเดิม 29) ร่วมกับ ม.เอดินบะระ ของอังกฤษ และ ม.นิวยอร์กของสหรัฐฯ
Tsinghua U. ติดอันดับที่ 30 (จากเดิม 35)
มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ติดอันดับที่ 116
มหาวิทยาลัยหนานจิง อันดับที่ 169
มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง อันดับที่ 177
มหาวิทยาลัยซั่งไห่เจียวทง อันดับที่ 188
มหาวิทยาลัยฮ่องกงติดอันดับ 40 ของโลก


เรื่องนี้โพสต์ครั้งแรกที่ OKnation Blog เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2012 (2555)

ได้รวมลิงก์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ในเอนทรี่ข้างล่างนี้แล้ว

ติดตามกิจกรรมของเราที่  facebook : Suwanna Future C
  


Flag Counter

เจาะลึกปักกิ่ง ทะเลสาบโฮ่วไห่ (Houhai) แหล่งร้านอาหาร ผับ บาร์


ทะเลสาบโฮ่วไห่ (Houhai , Beijing 北京后海 )

บางคนบอกว่าเคยไปปักกิ่ง แต่ไม่เคยไปหรือไม่เคยได้ยินชื่อโฮ่วไห่เลย


ถ้ามีเวลาไปปักกิ่งแค่ 5 วัน 4 คืน และไปกับทัวร์ที่ต้องจัดให้เราไปแวะร้านขายของ(เที่ยวบินบังคับ) ก็จะไม่มีเวลาพอที่จะไปโฮ่วไห่
ทะเลสาบโฮ่วไห่ กลายเป็นแหล่งกินแหล่งเทีีี่ยวกลางคืนขึ้นมาก็ไม่กี่ปีมานี้เอง



ภาพถ่ายทะเลสาบโฮ่วไห่จากทางเข้าด้านหน้า (Houhai , Beijing 北京后海 ) ปี 2011 และ 2012



การเดินทาง
เรียกแท๊กซี่ไปที่ "เหอฮวาซือฉ่าง" (荷花市场 )แปลว่า ตลาดดอกบัว
ถ้าบอกว่าไปโฮ่วไห่ แท๊กซี่ก็จะพาเราไปปล่อยไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะโฮ่วไห่กว้างมาก ( เคยเจอมาแล้วกับตัวเอง )

ทะเลสาบโฮ่วไห่ (Houhai , Beijing 北京后海 ) อยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง  ห่างจากทิศเหนือของพระราชวังต้องห้าม (พระราชวังกู้กง) แค่ประมาณ 1 กิโลเมตร  
สองฝั่งทะเลสาบเรียงรายไปด้วยร้านอาหารหลากหลายสไตล์  ผับ บาร์ เบียร์การ์เดน และร้านขายของจำนวนมาก 
เป็นแหล่งเที่ยวของชาวต่างชาติรวมถึงนักศึกษาต่างชาติ......

ภาพพวกนี้ถ่ายเมื่อมาถึงจุดที่เรียกว่า เหอฮวาซื่อฉ่าง 荷花市场 ( Hehua Shichang )
หันหน้าเข้าหาทะเลสาบโฮ่วไห่  มองไปข้างหน้าจะเห็นแบ่งเป็นฝั่งซ้ายและขวาของทะเลสาบ



ภาพที่เห็นด้านบน คือฝั่งซ้ายของโฮ่วไห่  เป็นจุดรวมของร้านอาหาร บาร์ ผับต่างๆ  มีอาหารอิตาเลียน ฝรั่งเศส ......พิซซ่า... 



ส่วนภาพที่เห็นด้านบนนี้  คือฝั่งขวาของโฮ่วไห่  เป็นจุดรวมของร้านอาหารท้องถิ่นต่างๆ แบบจีน เช่น อาหารกวางตุ้ง อาหารซูโจว


ร้านอาหารชาวฮากกา ( อาหารจีนแคะ หมูสามชั้นหม่อยช้อย 客家菜 梅菜扣肉 - เหล่าซือไปชิมมา - ปี 2011 )  ......

ร้านนี้ข้างในไฟไม่ค่อยสว่าง  แต่ละโต๊ะมีเทียนจุดไว้  ไม่ค่อยเคยชิน  สงสัยแถวนั้นทุกร้านจะบรรยากาศประมาณนี้


ถ้าเลือกเดินไปฝั่งขวา เดินผ่านกำแพงนี้ไปก็จะเป็นร้านขายของ ร้านอาหาร......มากมาย  ดูไม่หมด


ถ้าเลือกเดินเข้ามาทางฝั่งซ้ายของทะเลสาบ จะเดินผ่านป้าย "เหอฮวาซือฉ่าง"  (荷花市场)  ป้ายหน้าตาเป็นอย่างนี้



หัวมุม เจอร้านกาแฟสตาร์บัค (星巴克咖啡)ตกแต่งแบบสไตล์จีนสวยเก๋



เดินต่อไปก็จะเจอผับ บาร์ สถานดิสโก้เทค ต่างๆ ... มากมาย ส่วนมากเป็นแบบเปิดโล่ง open air เพราะอากาศที่นั่นเย็นสบาย
ถ้าเป็นหน้าหนาวอย่างเดือนพฤศจิกาตอนนี้ก็หนาวสุดๆ



มาถึงคอคอดเล็กๆ ที่จะเชื่อมไปยังอีกทะเลสาบหนึ่ง เห็นเรือลำนี้พายผ่านมา มีหญิงสาวใส่ชุดจีนดีด "กู่เจิง"
ให้ลูกค้าที่นั่งทานอาหารบนเรือฟัง  นี่ถ้าไม่มีรถยนต์ที่จอดอยู่บนฝั่งคงนึกไปถึงภาพในหนังจีนโบราณย้อนยุค
ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 
ตอนที่เขียนอยู่นี้ คงพายไม่ได้แล้ว น้ำในทะเลสาบน่าจะกลายเป็นน้ำแข็งหรือเกือบจะเป็นลานสเก็ตไปแล้ว



ตรงคอดอดนี้ จะมีสะพานโค้งโบราณเล็กๆ ให้ข้ามไปอีกฝั่ง  ซึ่งไปออกที่ ซอยหูถ้ง (北京老胡同)ได้

เป็นซอยเก่าแก่เล็กๆ ที่มีรูปคล้ายกล้องยาสูบ ( ชื่อซอย 烟袋斜街 YAN DAI XIE JIE ) 

 

เหล่าซือไปโฮ่วไห่ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2008  โดยใช้เส้นทางที่กลับกันกับที่เล่ามาข้างต้น
คือเริ่มต้นจากซอยหูถ้งเล็กๆ  เดินชมเมืองปักกิ่งแบบเก่า ออกมาเจอโฮ่วไห่ เป็นซอยสั้นๆ ประมาณ 5 - 10 นาทีก็สุดซอยแล้ว



ตอนนั้นอาจารย์ที่ BLCU พาเราไปชมซอยหูถ้ง (北京老胡同) ซอยเก่าแก่ซึ่งปัจจุบันอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 
มีรถสามล้อถีบบริการนักท่องเที่ยว  ในซอยเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึกตลอดทั้งซอย  และมีร้านทำที่ประทับตราอักษรจีน ฯ

เดินสุดซอยหูถ้งเก่า  烟袋斜街 YAN DAI XIE JIE  ก็จะเป็นทะเลสาบโฮ่วไห่ (Houhai , Beijing 北京后海 ) มีสะพานเล็กทรงโบราณเชื่อม  ตอนนั้นเจอฝนตก  อาจารย์พาเราหลบฝนเข้าไปทานอาหารข้างทะเลสาบ  เป็นร้านขายอาหารตะวันตกและอาหารจีน (ตอนนั้นรู้สึกว่าค่าอาหารแพงกว่าบ้านเรามาก )  อาจารย์เล่าประวัติความเป็นมาของโฮ่วไห่ให้ฟัง  จำได้แค่ที่บอกว่า ...

" ...... เล่ากันว่ามีทางลับใต้ิดินเชื่อมต่อจากข้างในพระราชวังกู้กงออกมาโผล่ที่ทะเลสาบโฮ่วไห่ได้ 
เพื่อเป็นเส้นทางหนีออกจากวังในยามคับขัน........" อย่างอื่นจำไม่ได้เลย 
 

ภาพบนนี้ เป็นภาพที่ทำการไปรษณีย์สมัยราชวงศ์ชิง 大清邮政 เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตู้ไปรษณีย์ข้างๆ คือตู้โบราณสมัยนั้น



สมัยก่อน  โฮ่วไห่ เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวปักกิ่งระดับผู้ใช้แรงงาน 
มาถีบเรือสูดอากาศบริสุทธิ์  ดื่มน้ำชา  ฟังเล่านิทาน  ฟังเพลงพื้นบ้านหรือดนตรี  ต่อมามีคนมาตั้งบาร์เล็กๆ ขึ้น
แล้วก็มีบาร์ต่างๆ ทยอยเข้ามาเปิด  จนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งบันเทิงคล้ายย่าน RCA กรุงเพทฯ ไปแล้ว 

ทะเลสาบโฮ่วไห่ แปลว่าทะเลด้านหลัง  เป็นทะเลสาบที่ขุดขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน ( 元朝 ประมาณ 800 ปีที่แล้ว ) ขุดขึ้นเพื่อขนส่งสิ่งของจากคลองเข้าไปพระราชวังกู้กง  ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างทะเลสาบซีไห่ ( Xihai 西海 ทะเลสาบตะวันตก ) และเฉียนไห่ ( Qianhai 前海 ทะเลสาบหน้า )  จุดเชื่อมคอคอดเล็กๆ เป็นด่านในสมัยนั้น 

    





ป.ล.
หน้าหนาวที่น้ำในทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง ก็จะมีวัยรุ่นมาเล่นสเก็ต กลายเป็นลานสเก็ตใหญ่กลางแจ้ง แต่ที่ใหญ่กว่านั้นคือ ทะเลสาบคุนหมิงในพระราชวังฤดูร้อนค่ะ
รอบๆ ทะเลสาบโฮ่วไห่ ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจคือ บ้านทรงสถาปัตยกรรมแบบซื่อเหอเยวี่ยน 四合院 ซึ่งเป็นที่พักเก่าของมาดามซ่งชิ่งหลิง (宋庆龄 Madame Song Qing Ling ภรรยาของดอกเตอร์ซุนยัดเซน )



** เรื่องนี้โพสต์ครั้งแรกที่ Oknation Blog เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 (2012)
http://oknation.nationtv.tv/blog/chineseclub/2012/11/14/entry-1

** ซีรีส์เรื่องยาวของเหล่าซือสุวรรณา "เจาะลึกปักกิ่ง" เริ่มต้นจาก ตอน 
เฉียนเหมิน (北京前门大街) การผสมผสานระหว่างการย้อนยุคกับความทันสมัย เป็นตอนที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554

ขอบคุณบล็อกเกอร์ทุนดี ลาดพร้าวซอยสิบสอง คุณลูกเสือหมายเลข 9 และคุณ vii๖  ที่ได้กรุณามาอ่านและให้กำลังใจในเอนทรี่นั้น จนผู้เขียนสามารถเขียนเล่าเรื่องราวของปักกิ่งต่อเนื่องอีกหลายตอน
http://www.oknation.net/blog/chineseclub/2011/07/14/entry-2


ได้รวมลิงก์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ในเอนทรี่ข้างล่างนี้แล้วนะคะ

Facebook : Suwanna Future C
Flag Counter