วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เสน่ห์เมืองตรัง หยำฉ่า ติ่มซำ เมืองเก่า @TRANG CITY


พูดถึงตรัง นอกจากจะนึกถึงเกาะสวยๆ น้ำใสๆ แล้ว  อีกอย่างที่ใครๆ ก็นึกถึงก็คือ

วัฒนธรรมอาหารเช้าแบบติ๋มซ้ำ หมูย่าง ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง

..........................

เอนทรี่นี้ เป็นเรื่องร้านอาหารอร่อยและสถานที่น่าสนใจของตัวเมืองตรัง

ติ๋มซ้ำ ร้านเรือนไทย 
สักการะศาลเจ้าพ่อท่ามกงเยี่ย  สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองตรัง
น้ำพุพะยูน
ภาพเมืองเก่า (บางส่วน)

  
 

สถานที่เหล่านี้ ดิฉันได้รับคำแนะนำจากบล็อกเกอร์ Chaoying แห่งค่ายโอเคเนชั่นบล็อก - เจ้าถิ่นตรัง

คุณเจ้าหญิงได้อธิบายเส้นทางให้อย่างละเอียดยิบเหมือนมีแผนที่อยู่ในหัว
ให้รายละเอียดยิ่งกว่า GPS หลายร้อยเท่า และดีกว่า จนท. การท่องเที่ยวตรัง 
คุณเจ้าหญิงจึงเหมาะกับตำแหน่ง "ทูตวัฒนธรรมแห่งเมืองตรัง" ค่ะ

บล็อกเกอร์คนริมเล  ได้กรุณาแนะนำเส้นทางสุราษฎร์-เขื่อนเชี่ยวหลาน กระบี่-ตรัง ตรัง-สุราษฎร์  
ขอบขอบคุณ
บล็อกเกอร์เจ้าหญิง และบล็อกเกอร์คนริมเล มา ณ โอกาสนี้

ขอคารวะด้วยติ๋มซ้ำ 10 เข่ง + ชาจีน 10 จอกค่ะ 
  



ก่อนอื่น ดูถสามล้อน่ารักก่อนนะคะ
รถแบบนี้เป็นสัญลักษณ์พาหนะของเมืองตรัง  คันนี้เขาโชว์ไว้หน้าโรงแรม
 
แต่ที่เห็นวิ่งตามถนนจะมีสีเขียวอ่อน น่ารัก เสียดายไม่มีโอกาสได้นั่ง 
 .............................

ประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม อาหารการกิน ขนม ของชาวตรัง

มีส่วนเกี่ยวก้องกับคนไทยเชื้อสายจีนอยู่ค่อนข้างมาก


 พระยารัษฏานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอมซิมบี้ ณ ระนอง)

ท่านเจ้าเมืองชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ( พ.ศ. 2400 - 2456 )

เป็นผู้ที่สร้างจังหวัดตรังให้มีความเจริญรุ่งเรือง
ท่านเป็นคนที่นำยางพาราต้นแรกมาปลูกที่เมืองไทย
จนปัจจุบันยางพาราไทย เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวภาคใต้ 

ท่านเกิดที่จังหวัดระนอง  พูดได้ 9 ภาษาทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ 

ชื่อภาษาจีนของพระยารัษฎาฯ  คือ  許心美  Xǔ Xīnměi  แปลว่า จิตใจงดงาม จิตใจดี

เสียงสำเนียงฮกเกี้ยนออกเสียงว่า คอซิมบี้  

ภาษาจีนกลาง ออกเสียงว่า สวี่ซิ้นเหม่ย

แซ่สวี่ ก็คือ แซ่โค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว
...............................


นานๆ ได้มาเมืองตรัง  จึงมีอะไรให้เขียนถึงให้นึกถึงมากมาย


 มาเล่าถึงของกินอร่อยกันก่อน  เพราะดิฉันถือหลักว่า การเที่ยวต้องคู่ไปกับของกิน

เสน่ห์ของเมืองตรังอย่างหนึ่งที่เราไม่พลาดแน่นอน ก็คือ

อาหารเช้าแบบคนจีนกวางตุ้ง ประเภทขนมจีบ ซาละเปา  ฮะเก๋า  ก๋วยเตี๋ยวหลอด ฯลฯ

ที่เรียกกันว่า  ติ๋มซ้ำ 广东式点心 ( จีนกลาง - กว่างตุงซื่อเตี่ยนซิ้น )
แปลว่า อาหารว่างสไตล์กวางตุ้ง  

ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า เต่เตี้ยม 茶点 หมายถึง น้ำชากับอาหารว่าง

แล้วคำว่า "หยำฉ่า" ที่เราได้ยินบ่อยๆ แปลว่าอะไร ?

หยำฉ่า  เป็นภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง มาจากคำว่า  饮茶 แปลว่า ไปดื่มน้ำชา  

เวลาชาวจีนกวางตุ้งไปทานอาหารประเภทนี้ เขาจะพูดว่า ไป "หยำฉ่า 饮茶"  

...................................


1 มกราคม ขึ้นปีใหม่ 2014 ที่ตรัง
ตื่นขึ้นมาก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณเจ้าหญิงแต่เช้า  ดีใจมากเลย  
คุณเจ้าหญิงบอกว่า "เมื่อคืนเพิ่งกลับจากพม่าถึงตรังตอนดึก"
พอรู้ว่าเราอยู่ตรัง ก็แนะนำร้านอาหารให้ อธิบายทางเหมือนดูหน้าจอ  ตรงไปเลี้ยวขวา ดูป้ายโน่นป้ายนี่่
วางสายเสร็จ  ไม่รอช้า รีบออกไป "หยำฉ่า" ทันที
 ร้านเรือนไทย ติ่มซำ  อยู่ที่ ถนนเพลิงพิทักษ์  ( ฝั่งตรงข้ามเป็นโชว์รูมฟอร์ด ตรัง)
พอใกล้ถึงก็เห็นรถจอดเยอะแยะสองข้างทาง 

( ชื่อร้านเขาเขียนว่า  ติ่มซำ แต่ภาษากวางตุ้งจะออกเสียงว่า ติ๋มซ้ำ )


เก้าโมงจะครึ่งแล้ว เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่มั้ง  ยังต้องรอคิวค่ะ ได้คิวที่ 9 



  

 ในร้านมีเรือสำเภาจีน  อาจจะเป็นการแสดงวัฒนธรรมจีน หรือ ระลึกถึงการอพยพของบรรพบุรุษก็ได้  



 เข่งละ 20 บาท 



 ไข่ลวกกาแฟแบบนี้ ทำให้นึกถึงบรรยากาศตอนเด็กๆ ที่พ่อพาไปกิน 

  



 อันนี้นึกถึงติ๋มซ้ำที่ฮ่องกงกับเมืองอีโปร์ มาเลย์ 



บักกุดเต๋  肉骨茶 แบบชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนสิงคโปร์ ที่ต้องสั่ง 









ก๋วยเตี๋ยวหลอดแบบกวางตุ้ง ชอบมาก สั่งมาหลายเข่ง สุดท้ายต้องเหมาเอง 
  

มื้อนี้ก็ไม่แพง  อิ๋มแป้ จัดเต็ม สำหรับ 4 คน ทั้งกาแฟ ไข่ลวก บักกุดเต๋ ติ๋มซำ หมูย่าง
หมดไป 690 บาท คิด 700 ละกัน
แต่น่าเสียดาย ที่ทริปนี้ไม่เจอหมูย่างตรังอร่อยๆ อย่างที่คิดไว้  
เพราะที่ไปทานมา 2 เจ้า ก็เย็นๆ เหนียวๆ และออกหวานไปหน่อย 

.........................................
หลังอาหารเช้า  เราก็รีบไปสักการะ ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย  譚公仙聖 ทันที
เพื่อเป็นสิริมงคลการได้เดินทางมาตรัง (ในรอบ 30 ปี)
ศาลเจ้าฯ อยู่ไม่ไกลจากร้านอาหารเรือนไทย ขับรถไปนิดเดียวเอง
ท่ามกงเยี่ย เข้าใจว่า มาจากเสียงสำเนียงจีนกวางตุ้ง
ภาษาจีนฮากกา จะออกสียงว่า ถ่ามกุงอย่า









คนในภาพคือตัวดิฉันเองค่ะ




มาค้นดูระวัติความเป็นมาของศาลท่ามกงเยี่ย
ก็ทราบว่า ประมาณปี  พ.ศ. 2428 มีชาวจีนแซ่เจ็งคนหนึ่ง
อพยพหนีความอดอยากแร้นแค้นจากเมืองหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้งในจีน ล่องเรือมาทางทะเล  
โดยชาวจีนคนนี้ได้นำยันต์พระและเถ้าธูปของพระท่ามกงเยี่ยจากวัดเก้ามังกรที่อยู่ใกล้บ้านติดตัวมาด้วย
เพื่อคุ้มครองให้การเดินทางปลอดภัย  ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้อพยพไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาอยู่ที่ตรัง
และได้ตั้งโต๊ะบูชายันต์พระและเถ้าธูปนี้ไว้ในบริเวณกระท่อมที่พัก (ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าปัจจุบัน)  
ความศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองสิ่งนี้ได้เลื่องลือเป็นที่รู้จักมากขึ้น
จนมีการก่อสร้างขยายสถานที่หลายครั้งจนกระทั่งเป็นศาลเจ้าในปัจจุบัน   





 หมูย่างทั้งตัวเลย






.....................................................................
หลังจากนั้น เราขับรถต่อไปที่แถวๆ สถานีตำรวจเมืองตรัง
ไปถ่ายรูปน้ำพุพะยูน  สัตว์อนุรักษ์ประจำจังหวัดตรัง


วงเวียนน้ำพุพะยูน  อยู่ที่ถนนพัทลุง ใกล้จวนผู้ว่าราชการจังหวัด และ ใกล้สถานีตำรวจเมืองตรัง
สูง 4 ชั้น  แต่ละชั้นบอกเล่าเรื่องราววรรณคดีไทย
ชั้น 1 ล่างสุด  พะยูน  

 ชั้นที่ 2 ม้านิลมังกร พระอภัยมณี 


ชั้นที่ 3  นางเงือก เรื่องพระอภัยมณี 

ตอนไปถ่ายรูป ไม่รู้หรอกว่าหมายถึงอะไร  

นางเงือกในรูป ดูเหมือนนางในนิทานฝรั่งมากกว่าไทย 


 ชั้น 4 บนสุด พรานบุญจับกินรี  เรื่องพระสุธนมโนราห์
ดูใกล้ๆ ก็เหมือนฝรั่งมากกว่าไทย  ใช้งบสร้าง 8 ล้าน

 
  
 ภาพล่างเป็นภาพนางฟ้า มีก้อนเมฆรองรับ (ไฟส่องทางในตัวเมืองตรัง)

........................................................
ขับรถต่อไปชมเมืองเก่าตรัง
 ส่วนหนึ่งของภาพในเมืองเก่าตรัง ที่ยังคงรูปสถาปัตยกรรมแบบสมัยชิโน-โปรตุกิส


  





  

  







 ได้เวลาอำลาเมืองตรังแล้วล่ะค่ะ
เมืองแห่งอาหารอร่อย ที่ฝากความประทับใจไว้มากมาย
.........................................

ทริปปีใหม่ 2014  ขับรถเที่ยวใต้ 7 วัน (ตอนที่ 8)    

หวังว่าเอนทรี่ทั้งหมดที่เกี่ยวกับตรังในบล็อกนี้
จะเป็นประโยชน์ค่ะ
............................................... 



Flag Counter


Flag Counter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น